หลากเสียงของผู้ปกป้องฐานทรัพยากร ต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

เครือข่ายองค์กรประชาชนที่เฝ้าติดตามปัญหาด้านฐานทรัพยากรซึ่งได้ใช้สิทธิในการชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขปัญหากับรัฐมาโดยตลอด วันนี้พวกเขามีความเห็นต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อย่างไร ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) ได้สัมภาษณ์เอาไว้ และทีมงานนักข่าวพลเมือง citizenthaipbs ขอเผยแพร่ต่อ


อีกไม่นาน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ก็จะมีผลบังคับใช้ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ได้พิจารณาเห็นชอบผ่านร่างดังกล่าวไปแล้ว (ทั้งวาระ 2 และวาระ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา) และมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ซึ่งจะมีผลเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศ

สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีทั้งสิ้น 35 มาตรา อาทิ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร เขตพระบรมมหาราชวัง, ห้ามชุมนุมที่รัฐสภา ทำเนียบ และศาล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมใน ระยะห่างไม่เกิน 50 เมตร, ห้ามขวางทางเข้า-ออก รบกวนการทำงานการใช้บริการหน่วยงานรัฐ ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานทูต สถานกงสุล และสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ, ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งระบุวัตถุประสงค์ และวัน เวลา และสถานที่ที่จะทำการชุมนุมด้วย, ห้ามปราศรัยในเวลาเที่ยงคืนถึง 06.00 น. ต้องไม่เคลื่อนการชุมนุมในเวลา 18.00 - 06.00 น. และการสลายการชุมนุมต้องขออนุมัติจากศาล เป็นต้น
 
อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงสะท้อนจากเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ที่ได้ใช้สิทธิในการชุมนุมเรียกร้อง และผลักดันข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหากับรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอด เพื่อติดตามปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่จากนโยบายการจัดการทรัพยากร ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และปัญหาปากท้องของชาวบ้าน โดยทั้งหมดต่างมองว่าสิทธิ เสรีภาพ ในการชุมนุมกำลังจะถูกลิดรอน กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อควบคุมการชุมนุม แต่ปัญหาความเดือดร้อนยังคงดำรงอยู่ไม่ได้รับการแก้ไข
 
เริ่มต้นที่ นางสาววรรณา ลาวัลย์ จากกลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง กล่าวว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มันเป็นการลิดรอนสิทธิของชาวบ้าน สมมุติถ้าให้ไปชุมนุมในที่ที่เขาจัดไว้มันเหมือนกับให้เรียกเข้าไปประชุม ชาวบ้านไม่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง มันไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ถ้าเกิดมีการอนุญาตให้หน่วยงานรัฐหรือบริษัทเริ่มทำกระบวนการใด โดยไม่มีส่วนร่วมของประชาชนเราก็ไม่สามารถค้านได้อย่างเต็มที่
 
นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพราะเป็นกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐและบริษัทในการใช้ควบคุมชาวบ้าน ซึ่งการที่ชาวบ้านจะไปชุมนุมตรงจุดไหนมันไม่น่าจะต้องขออนุญาต เพราะบางทีชาวบ้านเดือดร้อนก็ควรไปชุมนุมได้เลย มันเป็นสิทธิอยู่แล้ว

นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า การชุมนุมถ้าต้องให้ไปขออนุญาตจากตำรวจหรือผู้ว่า ตนไม่เห็นด้วยเพราะละเมิดสิทธิของประชาชน การออกพ.ร.บ.ดังกล่าว ถือว่าเป็นการออกมาเพื่อละเมิดสิทธิประชาชน

นางระเบียง แข็งขัน จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ทำอะไรจะต้องขออนุญาตภาครัฐ เราจำเป็นอะไรที่จะต้องขออนุญาตทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็ไม่ใช่จะทำอะไรให้มันเสียหาย เพราะเราชุมนุมอย่างสันติไม่ได้ทำให้ทางราชการเสียหาย

นายสมยศ แสนโคตร จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนา มูล-ดูนสาด จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับตรงที่ว่าการชุมนุมต้องขออนุญาตก่อน เพราะถ้าอย่างนั้นเขาก็ห้ามชุมนุมได้ ซึ่งการชุมนุมมันเป็นการใช้สิทธิ์ในการแสดงออก แล้วก็ไม่เห็นด้วยกับการห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุมเพราะว่าบางครั้งในช่วง ก่อนค่ำเราก็ต้องการคนมารับฟังในสิ่งที่เราชุมนุม อีกอย่างมันควรขึ้นอยู่กับความพร้อมว่าเราสะดวกชุมนุมช่วงไหนเคลื่อนย้าย เวลาไหนมันเป็นสิทธิของเรา

นายพุฒ บุญเต็ม ผู้ประสานงานสมัชชาคนจนเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา กล่าวว่า มันจำกัดสิทธิกันเกินไป เราจึงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายแบบนี้ ซึ่งออกมาเพื่อป้องกันคนชุมนุมขับไล่รัฐบาล แต่พวกเราเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิชาวบ้าน มันก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ข้าราชการไม่ฟัง รัฐบาลไม่สนใจบางครั้งมันก็ต้องเดินขบวน บางครั้งมันก็ต้องชุมนุมถึงจะมีอำนาจต่อรอง

นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ. ตัวนี้ในทุกข้อเพราะว่ามันออกโดยรัฐบาลทหารที่ควบคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จในมือ แค่เสียงของชาวบ้านตอนที่ยังไม่มีพ.ร.บ.นี้รัฐเขาก็ไม่สนใจอยู่แล้ว รัฐบาลทหารออกกฎหมายมาก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนรวยไม่เคยสนใจเสียงของคนจน ไม่ให้แสดงออก ไม่ให้ออกสิทธิ์ออกเสียง
 
นางอมรรัตน์ วิเศษหวาน แกนนำคณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำชี กล่าวว่า ปัญหาของพวกเรายังไม่ถูกแก้ไข ซึ่งเขาออกกฎหมายแบบนี้พวกเราไม่มีสิทธิขยับได้เลย เราชุมนุมเพราะเดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่ชุมนุมทางการเมือง ขนาดชุมนุมอยู่หน้าศาลากลางแท้ๆ เขายังไม่อยากรับเรื่องหรือลงมาคุยกับเราเลย แล้วนับประสาอะไรถ้าไปชุมนุมในที่ๆเขาจัดให้เขาจะมาฟังเรื่องของเราเหรอ ดังนั้นการที่ชาวบ้านเขาชุมนุมเรื่องปัญหาปากท้องเขาจริงๆ ก็ควรมีข้อยกเว้น

นางอรนุช ผลภิญโญ กองเลขาเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน กล่าวว่า มันเป็นการจำกัดสิทธิประชาชนที่จะแสดงออก เช่น การชุมนุมที่ต้องขออนุญาตก่อน 24 ชั่วโมง แล้วถ้าเขาไม่อนุญาตล่ะ เพราะว่าการเรียกร้องของชาวบ้าน ความเดือดร้อนของชาวบ้านมันรอไม่ได้ ถ้าไม่ให้ชุมนุมอยู่ศาลากลางแล้วจะให้ไปชุมนุมอยู่ไหน ไม่เห็นด้วยกับการที่ออก พ.ร.บ.นี้ ซึ่งการปกครองในระบอบใดก็ตามประชาชนควรจะมีสิทธิในการแสดงออกในการชุมนุม

สุดท้ายนายไพฑูรย์ สร้อยสด จากสมัชชาคนจนกรณีหมู่บ้าน เก้าบาท กล่าวว่า ตามหลักประชาธิปไตยแล้ว มันก็ไม่น่าที่จะมาจำกัดสิทธิตัวนี้ สมมุติว่าถ้าไม่ให้ชุมนุมในสถานที่ราชการแล้วไปชุมนุมในป่าใครจะมาสนใจเสียง ของชาวบ้าน เพราะต้นตอของปัญหามันไม่ได้เกิดจากชาวบ้านแต่มันเกิดจากผู้มีอำนาจเป็นผู้ มาสร้างปัญหา ที่ผ่านมาถ้าหากเราต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเราก็ต้องใช้วิธีการชุมนุม เพื่อกดดันรัฐบาลมันก็ยังพอมีเสียงมีช่องทางบ้าง แต่พอพ.ร.บ.ตัวนี้ออกมามันเหมือนเป็นการตัดแขนตัดขาชาวบ้าน