สภาผู้ชมฯ ภูมิภาคกลาง หวังไทยพีบีเอส เป็นแกนกลางภาคพลเมือง
ระดมสมองเวทีสมัชชาเครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณะ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภูมิภาคกลาง หวังไทยพีบีเอส เป็นแกนกลางภาคพลเมือง สื่อสารสถานการณ์ภัยพิบัติแบบดิจิทัล พัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วม ผลักดัน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ด้าน ผอ.ไทยพีบีเอส แย้มทิศทางปี 2567 มุ่งปรับตัว - ยกระดับ เดินหน้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านสื่อดิจิทัล 100% พร้อมให้คำมั่นเป็นองค์กรที่ส่งมอบคุณค่าอย่างคุ้มค่า
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส จัดเวทีสมัชชาเครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณะ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ภูมิภาคกลาง ประจำปี 2566 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดย รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า จุดแข็งของไทยพีบีเอส คือ ความโดดเด่นในเรื่องของการสื่อสารมิติวัฒนธรรมและการเรียนรู้ผ่านรายการสาระประโยชน์และสาระบันเทิง ในฐานะโรงเรียนของสังคมที่สร้างการเรียนรู้แบบ "หยั่งรากวัฒนธรรม เพื่อเข้าใจตัวตน และพร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็นพลเมืองโลก" ยึดโยงกับประชาชนผ่านการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม จนเป็นที่ยอมรับ จดจำ
"ทั้งหมดที่ไทยพีบีเอสทำ ยังไม่เพียงพอในการเป็นสื่อสาธารณะที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง เราผ่าตัดใหญ่องค์กรตั้งแต่ปี 65 ด้วยการยกระดับเดินหน้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านสื่อดิจิทัล 100% ดังนั้น นอกจากไทยพีบีเอสมีช่อง 3 HD, 4 ALTV ที่เกิดขึ้นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด VIPA บริการออนไลน์จาก Thai PBS ในรูปแบบ Audio and Video On Demand นอกจากนี้มีสื่อเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแฟนคลับเยอะ พฤติกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจ เช่น The active, Thai PBS Kids, ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ (DXC) ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งหากเราไม่ปรับตัวรับกับพฤติกรรมการรับชมสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จะทำให้ไม่สามารถอยู่รอดในยุคดิจิทัลได้" รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว
รศ. ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า ในปี 67 ไทยพีบีเอสมีความตั้งใจ และคำสัญญา คือ
- เป็นองค์กรที่ส่งมอบคุณค่าอย่างคุ้มค่า การผลิตและเผยแพร่เนื้อหาคุณภาพสูง ตรงความสนใจด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเปลี่ยนแปลง เขย่าความคิดของคนในสังคม
- เป็นสื่อสาธารณะที่น่าเชื่อถือและวางใจได้ นำเสนอเนื้อหารอบด้าน อย่างไม่มีอคติ เพื่อหาคำตอบร่วมกันของสังคม
- เป็นสื่อสาธารณะดิจิทัลเพื่อทุกคน สร้างการเข้าถึงทุกเนื้อหา ไม่มีข้อจำกัดในการใช้งาน
ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณะแต่ละกลุ่มนำเสนอข้อมูลที่ได้รวบรวม โดยผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณะ ภูมิภาคกลาง ใน 3 ประเด็นคือ
1. การรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการบนสื่อดิจิทัลของไทยพีบีเอส โดยเครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณะ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับ Platform Digital เช่น การสื่อสารประชาสัมพันธ์ Platform Digital ให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนา Platform Digital เพื่อรองรับ W3C ให้ประชาชนกลุ่มผู้พิการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการเพิ่มเนื้อหาให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มอายุ ความหลากหลายทางเพศและภาษา สื่อสารสถานการณ์ภัยพิบัติในระบบดิจิทัล เสนอให้สร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์น้ำ พยากรณ์เบื้องต้นได้ และเสนอให้จัดทำแพลตฟอร์มแนะนำผู้ประสบภัยให้ได้รับการเยียวยาโดยภาครัฐ เป็นต้น
2. การรับฟังความคิดเห็นเชิงประเด็นสถานการณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ภัยพิบัติ, ชาติพันธุ์และสิทธิสถานะ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
- ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่การขาดความสมดุลของนโยบายสาธารณะและนโยบายสื่อ แนวทางการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าและชุมชน ที่เน้นการจัดการทรัพยากรมากกว่าการจัดการเรื่องความหลากหลาย จึงอยากเห็นกระบวนการติดตามของไทยพีบีเอส ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดแนวทางการจัดการความสมดุลเชิงพื้นที่ ติดตามและผลักดันการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม
- ด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะน้ำท่วมขัง น้ำหลาก อยากให้ไทยพีบีเอสติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง มีการพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วม สร้างเครือข่ายสื่อพลเมืองเพื่อเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น จัดระบบฐานข้อมูลน้ำระหว่างรัฐกับรัฐเพื่อใช้ในการวางแผนสื่อสารกับประชาชน ควรมีเรือพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทางน้ำในพื้นที่ซ้ำซาก
- ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ ภาครัฐและเอกชนควรส่งเสริมและสนับสนุนวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงควรส่งเสริมและสนับสนุนชาติพันธุ์ในท้องถิ่นจัดการตนเองทางด้านวัฒนธรรมความเชื่ออย่างแท้จริง และส่งเสริมศิลปะ หัตถกรรมผลผลิตชาติพันธุ์และหลักสูตรทางด้านภาษาพูดภาษาเขียนในสถานศึกษาใกล้ชุมชนชาติพันธุ์ และข้อเสนอสำหรับเด็กผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยควรได้รับสวัสดิการจากภาครัฐด้วย
3. การรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตรายการ ประเภทสารคดี การเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น อัตลักษณ์ของพื้นที่ ทักษะการใช้ชีวิต ประเภทละคร ให้ทันสมัยทันทุกเหตุการณ์ ละครสะท้อนสังคม สอดแทรกความหลากหลายของชาติพันธุ์ในประเทศไทย การพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเภทกีฬา การ์ตูน ควรมีรายการกีฬาออกอากาศย้อนหลังให้ได้รับชม และเพิ่มช่วงเวลาการออกอากาศในวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ด้านข่าวเน้นการพัฒนาคน ศูนย์นักข่าวพลเมืองประจำจังหวัด ให้ความรู้สิทธิต่าง ๆ ของประชาชน พัฒนาสื่อ ทุนทางวัฒนธรรม สุขภาพ เศรษฐกิจ
ในช่วงท้ายผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ตอบรับข้อเสนอของเครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณะ สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ภูมิภาคกลาง เพื่อต่อยอดและนำเข้าสู่แผนการดำเนินงานของ ส.ส.ท. ในปี 67 ต่อไป